สาเหตุและประเภทของสิวอุดตัน สิวอักเสบ

ไม่ว่าจะเป็นสิวอุดตัน หรือสิวอักเสบ!! ก้าวแรกของการรักษาสิว ก็คือการรู้จักชนิดของสิว ที่มารบกวนอยู่บนใบหน้าของเรา เพราะการรู้จักที่มาที่ไป ประเภท/ชนิด ของสิวอุดตัน สิวอักเสบ นั้นจะช่วยให้เรารู้เหตุผลที่แท้จริงของการเป็นสิวได้ ดังนั้น วันนี้เราจึงได้รวบรวมประเภทของสิวอุดตันและสิวอักเสบมาฝาก เพื่อที่เราจะได้หาวิธีรักษาและป้องกันการเกิดสิวได้อย่างถูกวิธี การแก้ไขปัญหาก็จะง่ายขึ้น ตรงจุด รักษาสิวได้หายขาด


ประเภทของสิวอุดตัน และสิวอักเสบ
สิว (Acne) สามารถแบ่งเป็น 2 ชนิดหลัก คือ
1. สิวไม่อักเสบ หรือสิวอุดตัน (Comedone)
เกิดจากการอุดตันของต่อมไขมัน สิวชนิดนี้มีลักษณะเป็นเม็ดตุ่มเล็กๆ ที่เกิดบริเวณผิวหน้าของเรา แบ่งเป็น 2 ชนิดหลักๆ คือ

สิวหัวปิด หรือสิวหัวขาว (White head) เห็นเป็นตุ่มนูนเล็กๆ หัวขาวๆ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.1-3 มิลลิเมตร มีสีเดียวกับผิวหนังปกติ สิวประเภทนี้เกิดจากการอุดตันสะสมอยู่ในท่อเปิดของต่อมไขมันและขุมขน (Pilosebaceous unit) แต่ท่อเปิดจะเล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า สิวหัวปิดขนาดใหญ่ อาจจะคงอยู่ได้ นานหลายสัปดาห์ หรือ หลายเดือน ประมาณ 75% ของสิวชนิดนี้จะกลายไปเป็นสิวอักเสบ

สิวหัวเปิด หรือสิวหัวดำ (Black head) เห็นเป็นตุ่มนูนเล็กๆ หัวดำๆ เส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 0.1-3 มิลลิเมตร และสังเกตดีๆ จะมีจุดดำอยู่ตรงกลาง ซึ่งจุดเหล่านี้ก็เป็นกลุ่มเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว, ไขมัน, และเชื้อ P.acnes อุดอยู่ในท่อเปิดของต่อมไขมัน

นอกจากนี้ยังอาจแบ่งสิวอุดตันได้อีกชนิดหนึ่ง คือ สิวอุดตันชนิดที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (Microcomedone) จากการตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ของผิวในบริเวณที่ดูปกติ ในบุคคลที่เสี่ยงต่อการเกิดสิว พบ Microcomedone ได้ 28% ข้อมูลดังกล่าวจึงสนับสนุนการใช้ยาทารักษาสิว แม้ในบริเวณที่ยังไม่มีสิวให้เห็น

2. สิวอักเสบ (Inflammatory acne)
สิวชนิดนี้คือ เกิดจากการอักเสบของสิวอุดตัน (Comedone) ที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย (BACTERIA) แทรกซ้อน จะมีลักษณะเป็นเม็ดบวมแดง หรือเป็นหัวหนอง หรืออาจจะกลายเป็นถุงซีสต์ ที่เรียกว่า “สิวหัวช้าง” และสามารถแบ่งเป็นหลายชนิดด้วยกัน ดังนี้

สิวชนิดตุ่มนูนแดง (Papule) มีขนาดแตกต่างกันออกไป ร้อยละ 50 ของสิวชนิดนี้เกิดจากสิวที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (microcomedone), 25% เกิดจากสิวหัวปิด และอีก 25% เกิดจากสิวหัวเปิด

สิวหนอง (Pustule) มีได้หลายขนาด อาจตื้น หรือ ลึกก็ได้ ถ้าเป็นสิวหนองชนิดตื้นจะหายได้เร็วกว่าชนิดที่เป็นตุ่มนูนแดงแข็ง (papule) ส่วนสิวหนองชนิดลึกมักจะพบน้อยกว่า และพบในผู้ที่เป็นสิวค่อนข้างรุนแรง โดยเริ่มมาจากตุ่มนูนแดงแข็งก่อน อาจเป็นอยู่ได้นานมากกว่า 7 วัน มักมีอาการเจ็บร่วมด้วย และใช้เวลาในการหายประมาณ 2-6 สัปดาห์

สิวอักเสบแดงเป็นก้อนลึก (Nodule) มักมีขนาดตั้งแต่ 8 มม.ขึ้นไป อาจใช้เวลาในการหายถึง 8 สัปดาห์ และมักจะทำให้เกิดเป็นรอยแผลเป็นตามมาได้

สิวเป็นถุงขนาดใหญ่ใต้ผิวหนัง (Cyst) พบได้ไม่บ่อย มักมีขนาดใหญ่ได้หลายเซนติเมตร ภายในบรรจุหนองหรือสารเหลวคล้ายเนย รอยโรคอาจรวมกันเป็นสิวขนาดใหญ่มากๆ ได้ สิวลักษณะนี้มักจะก่อให้เกิดรอยแผลเป็นเสมอ

สิวเสี้ยน (Trichostasis spinulosa) สิวประเภทนี้พบได้ค่อนข้างบ่อยเลยค่ะ โดยเฉพาะ บริเวณจมูก, คาง, ลำตัวส่วนบน, ต้นแขน และหลังบริเวณระหว่างกระดูกสะบัก ถึงเราจะเรียกว่าเป็นสิวเสี้ยน แต่จริงๆ แล้วทางการแพทย์ไม่จัดว่าสิวเสี้ยน เป็นสิวนะค่ะ เพียงแต่ว่าเนื่องจากบริเวณที่พบสิวเสี้ยนเป็นบริเวณใกล้เคียงกับที่พบสิวโดยทั่วไป และก่อปัญหาทางด้านความงามได้พอๆ กับสิวแท้

โดยความจริงแล้ว สิวเสี้ยน นั่นก็คือ กลุ่มของขนอ่อน (Vellus hair) หลายๆ เส้นที่สะสมอุดตันอยู่ในรูขุมขน เห็นเป็นขนแหลมๆ สีดำ ยื่นออกมาจากรูขุมขน ในบริเวณดังที่กล่าวมาแล้ว

ส่วนกลไกของการเกิดจริงๆ นั้น ยังไม่ทราบแน่ชัดค่ะ แต่ที่อาจเป็นไปได้ คือ มีการหนาตัวของเซลล์ชั้นหนังกำพร้าที่มากขึ้น จนมาปิดกั้นรูขุมขน ทำให้ขนที่สร้างขึ้นไม่สามารถหลุดออกไปได้

ผลข้างเคียงจากการเกิดสิวอักเสบ มักเกิดได้บ่อย ถ้าไม่รีบรักษา คือ
1. รอยดำจากสิว
2. รอยแดงช้ำ ซึ่งอยู่ได้นาน เป็นเดือนๆ
3. รอยหลุมจากสิว หรือ Icepick-scar

สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดสิว
1. เกิดจากกรรมพันธุ์
2. เกิดจากการแพ้อาหาร เช่น บางคนทานช็อกโกแลต แล้วสิวขึ้นทันที ทานเมื่อไรก็ขึ้นทุกที
3. เกิดจากสภาพอากาศ เช่น บางคนโดนแดดมาก ๆ สิวก็ขึ้นได้คะ
4. เกิดจากสภาวะเครียด เนื่องจากเมื่อเราเครียดการไหลเวียนของเลือดจะเริ่มผิดปกติ ต่อมไขมัน ผลิตไขมันมากจนเกิดสิว นอกจากนี้ความเครียดยังทำให้ความต้านมานโรคของร่างกายต่ำลง ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ง่ายขึ้น
5. เกิดจากระดับฮอร์โมน เช่นในช่วงก่อนมีประจำเดือน หรือวัยรุ่น โดยกรดไขมันที่เกิดจากากรย่อยไขมันโดยเชื้อโรคจะถูกขับออกมาตามรูขุมขนพร้อมๆกับเชื้อโรคตลอดเวลา แต่ระดับฮอโมนเพศในช่วงดังกล่าวจะกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตไขมันมากขึ้น ดังนั้นไขมันจึงระบายออกมาไม่ทัน เชื้อโรคจึงมีโอกาสแบ่งตัวมากขึ้น
6. เกิดจากการทาครีม หรือแป้ง ทำให้มีการอุดตันรูระบายไขมัน สารเคมีในสบู่บางชนิดอาจกระตุ้นให้เกิดสิวได้ ครีมบำรุงผิว น้ำมันและโลชั่นบางชนิดอาจเป็นสาเหตุก่อให้เกิดสิว

ยกตัวอย่างสาเหตุที่ทำให้เกิดการอุดตัน เช่น จากความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ หรือความผิดปกติของสมดุลกรด-ด่าง ในร่างกาย เช่น ที่พบในผู้ป่วยไตวาย ส่วนจากปัจจัยภายนอก ก็อย่างเช่น การใช้สบู่ที่มีความเป็นด่างสูง ทำให้ผิวระคายเคือง, การใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของ Paraffin, การสัมผัสกับฝุ่น สารประเภทไฮโดรคาร์บอน หรือน้ำมันในอุตสาหกรรมบางประเภท และมีบางการศึกษาพบความสัมพันธ์ระหว่างสิวเสี้ยน กับเชื้อ Propionibacterium acnes และ Pityrosporum spp. ซึ่งเป็นเชื้อที่สัมพันธ์กับสิวแท้ด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : acne-beauty.com
ขอขอบคุณ รูปจากอินเตอร์เน็ต